วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผู้รักดีมีความสุข


ธรรมวัชระที่๑ ผู้รักดีฉลาดทำกับความนึกคิด
           คนเราเวลามีความทุกข์  ถ้าคิดตรวจใจดูให้ดีแล้วจะมองเห็นความจริงจะจับได้ว่า  ที่เป็นทุกข์นี้เพราะอะไร  ก็เพราะว่าเราคิดแต่เรื่องนั้นเรื่องเดียวเรื่องที่จะทุกข์เรื่องเดียว  เรื่องที่จะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สบายใจ  กลุ้มใจ  เพียงเรื่องเดียว  เรื่องอื่นมี  แต่เราไม่คิดอยู่แต่เรื่องนั้น  แล้วก็นั่งกลุ้มอกกลุ้มใจอยู่ตลอดเวลา  ทำไมจึงกลุ้ม  ก็เพราะกำลังไปคิดถึงแต่เรื่องที่ทำให้กลุ้มนั้นเอง
          อะไรๆ  ที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้นมันเกิดจากความคิดของเรา  ไม่ได้เกิดมาจากอะไรอื่นๆ  สิ่งอื่นภายนอกมันเป็นไปตามสภาวะของมัน  สิ่งใดเกิดแล้ว  เป็นแล้ว  สิ่งนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลง  แล้วก็มีการแตกสลายไปในที่สุด  ไม่ว่าอะไรเหมือนกันทั้งหมด
         เราคงจะเคยไปเที่ยวเมืองเก่า  เช่น  อยุธยา  ท่านไปเที่ยวที่อยุธยาท่านได้อะไรบ้าง  บางคนไปเที่ยวแล้วโกรธพม่าหัวฟัดหัวเหวี่ยง  โกรธนักหนา  พม่านี่มันใจร้ายทำลายกรุงศรีอยุธยาแล้วก็โกรธ  บางคนพูดว่า  แหม!  ถ้ากูพบพม่าตอนที่เดินชมกรุงศรีอยุธยากูตีหัวมันแน่ๆ  คิดไปถึงขนาดนั้น  ทำไมไม่คิดในแง่อื่นบ้าง  แง่ที่มันจะก่อให้เกิดปัญญา  ก่อให้เกิดอะไรที่เป็นประโยชน์ทางจิตใจ
         คนเรามักไม่ค่อยนึกไปในแง่ให้เกิดปัญญา  ไปคิดในแง่ราคะเสียบ้าง  ในแง่โทสะบ้าง  ในแง่โมหะบ้าง  มักจะวนอยู่ในวงจรของกิเลส  เพราะว่ามันชินทางให้กิเลสเกิดง่าย  แต่ว่าปัญญานี่มันเกิดไม่บ่อยถ้าเราทำให้เกิดปัญญาเสียบ้าง  จิตใจก็คุ้นเคยกับเรื่องทางปัญญา  เมื่อคุ้นกับเรื่องทางปัญญา  มีอะไรเกิดขึ้น   ปัญญาก็จะแทรกโผล่มาทันท่วงที  เช่น  มาปลอบโยนจิตใจเรา  มาบอกเราว่าอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราก็จะไม่มีความหลงผิด  เข้าใจผิด  ความทุกข์ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นทางจิตใจนั่นก็จะบรรเทาหรี่วอดลงไป  อันนี้เพราะเราคิดได้  คือเราคิดอีกมุมหนึ่งได้
         ขอให้คิดว่าโลกเรานี้มีหลายมุมหลายเหลี่ยมที่เราจะมอง  ถ้ามองไปด้านหนึ่งมันมีความกลุ้มใจแล้วเราไปมองอยู่ทำไมที่ตรงนั้น  คล้ายๆ  กับว่าหน้าต่างบ้านเราด้านหนึ่ง  เปิดไปแล้วเห็นน้ำคลองเน่าเหม็นกลิ่นอบอวลไปทั้งหมด  เราเปิดปั๊บมีกลิ่นเหม็น  แล้วเปิดชมมันทำไมด้านนั้นปิดมันเสียแล้วก็ไปเปิดอีกด้านหนึ่ง  อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นสนามหญ้าเขียวสด  มีต้นไม้ร่มรื่น  พอเราเปิดมองไปก็สบายใจเพราะเราได้เห็นสิ่งที่ทำให้เพลินตาเย็นใจ  เราก็ควรมองด้านนั้น  ส่วนด้านที่มันเน่ามันเหม็นมันสกปรกมีน้ำครำ  เราก็อย่าไปเปิด  ปิดมันเสียเลย  ไม่ต้องเปิดด้านนั้นต่อไป อย่างนี้ก็สบายใจ
         โลกเราหรือชีวิตของเรานั้น  มันมีหลายเหลี่ยมหลายมุมหลายแง่  เราจะมองไปในแง่ไหนก็ได้  สิ่งต่างๆ  ที่มันอยู่รอบตัวเรานั้น  มีทั้งดีมีทั้งเสีย  ถ้าเรามองเป็นอาจจะเห็นความดีก็ได้  มองไม่เป็นอาจจะเห็นแต่ความไม่ดีก็ได้  เพราะฉะนั้นคนบางคนมองอะไรแล้วมักจะเกิดกิเลส  เช่น  มองแล้วเกิดความโกรธ  มองแล้วเกิดความเกลียด  มองแล้วเกิดความริษยา  อาฆาตพยาบาทจองเวร  มีแต่เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในใจ  แล้วก็นั่งกลุ้มอกกลุ้มใจด้วยประการต่างๆอย่างนี้เรียกว่า  มองในด้านร้าย  มันไม่ถูกต้อง  เราควรจะมองในด้านที่ถูกต้อง
         ด้านที่ถูกต้องนั้นมองอย่างไร  คือมองให้รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร  สภาพความจริงของสิ่งนั้นมันเป็นอย่างไร  อย่างนี้เรียกว่า  มองในด้านความจริง  ด้านสัจจะ
         พระพุทธศาสนาของเรานั้นท่านสอนให้เรามองอะไรๆ ตามที่มันเป็นจริง  มีคำบาลีอยู่คำหนึ่งว่า  ยถาภูตญาณทัสนะ  หมายความว่า  รู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นจริง  มองสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามที่มันเป็นอยู่จริงๆ  ถ้าเรามองเห็นสิ่งนั้นชัดตามที่มันเป็นอยู่จริงๆแล้ว  มันก็ปกติ  ไม่เกิดอะไร  แต่เกิดปัญญา  เกิดความเข้าใจในสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง  แล้วความวุ่นวายทางจิตใจก็ไม่มี  ที่เกิดความวุ่นวายขึ้นนั้นก็เพราะว่าเรามองไม่ถูกความจริงของมัน  ไปมองสิ่งที่เป็นมายา  สิ่งที่ไม่ใช่ของจริง  ของแท้  ไม่ได้ดูลงไปให้ลึกซึ้งถึงสิ่งนั้นว่า  มันคืออะไร  เนื้อแท้มันเป็นอย่างไร  การมองอย่างนี้แหละ  ทำให้เกิดปัญหาสร่งความทุกข์  ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ
         ทีนี้ปกติคนเรานั้นอยากจะอยู่อย่างเป็นทุกข์หรืออยากจะอยู่อย่างเป็นสุข  คำว่า   ความสุข  ในที่นี่ให้ความหมายถึงสงบจิตสงบใจอยู่  เพราะรู้อะไรตามความเป็นจริง  เราก็อยู่อย่างมีความสุข  ความสบายทุกคนต้องการอย่างนั้น  เมื่อเราต้องการจะอยู่อย่างสงบสุข  แล้วทำไมเราจึงไปคิดเรื่องให้มันมีความทุกข์ใจ  คิดเรื่องให้เกิดความร้อนอกร้อนใจ  นั่งกลุ้มอกกลุ้มใจอยู่ด้วยเรื่องปัญหาเล็กๆน้อยๆ  ซึ่งมันเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา  อย่างนี้ก็เรียกว่า  คิดเรื่องให้ตนเกิดความทุกข์เอง  ไม่มีใครมาทำให้แก่เรา  แต่เราทำให้แก่ตัวเราเอง  การทำให้แก่ตัวเราเองก็คือว่า  คิดเรื่องนั้นขึ้นมาในแง่ที่ไม่ถูกต้อง  มองไม่ตรงตามสภาพที่เป็นจริง  เลยเกิดปัญหา  ทำให้เกิดความกลุ้มอกกลุ้มใจด้วยประการต่างๆ
         เรื่องบางเรื่องที่มันเกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้นจบแล้ว   พูดตามภาษานักการพนันก็ว่ามันเกมไปแล้วแต่เราไม่ยอมให้มันเกม  ยังเอามานั่งคิดนั่งนึกอยู่ตลอดเวลา  เห็นอะไรก็เอามานั่งคิดในแง่ทุกข์ทั้งนั้น  เช่น  เห็นข้าวของเครื่องใช้ไม้สอยอะไรๆต่างๆ  ของของคนที่จากไปเคยใช้สอย  มองแล้วก็ห่อเหี่ยวใจ  ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ  อย่างนั้นก็เพราะว่าไม่มองให้รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง  จึงได้เกิดอารมณ์เช่นนั้น
         เพราะฉะนั้น  ถ้าใครไม่อยากจะนั่งทุกข์  ไม่อยากจะเดือดร้อนเนื้อร้อนใจ  มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของเรา  เราก็ต้องหัดคิดไปในแง่ธรรมมะ

ธรรมวัชระที่๒  ผู้รักดีฉลาดในมนุษย์สัมพันธ์
         ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นว่า  เราจะปฏิบัติธรรมอะไร  เราจึงจะอยู่กันด้วยความสุขความสบาย  ตามสมควรแก่ฐานะ  ธรรมะที่เราควรจะนำมาเป็นหลักปฏิบัตินั้นมีมาก  แต่ว่าในเบื้องต้นที่เราควรจะใช้ก่อนอะไรทั้งหมดนี้  คือเราจะต้องอยู่กันด้วยความเมตตาปรานีต่อกัน  อยู่กันด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน  อันนี้เป็นคุณธรรมชั้นแรกชั้นพื้นฐานที่มีให้เราทั้งหลายปฏิบัติ
         ญาติโยมทั้งหลายเคยรับศีลกันบ่อยๆ  รับศีลห้า  ทั้ง๕ข้อ  เรารับข้อแรกว่า  จะไม่ฆ่าใคร  ไม่เบียดเบียนใคร  ไม่ทำใครให้เจ็บปวดเดือดร้อน  แล้วขั้นต่อไปว่า  จะไม่ลักล้วงเอาของใครๆ  ไม่ฉ้อฉลเอารัดเอาเปรียบใครในเรื่องการทำมาหากิน  การเอารัดเอาเปรียบกันนั้นก็ผิดศีลเหมือนกัน  เช่น  คนค้าขายเอากำไรเกินควร  การกักตุนสินค้ามันก็อยู่ในการผิดศีลข้อสอง  นั่นเรียกว่าเอาของเขาชนิดที่เขาไม่ให้  เพราะว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้เพื่อนมนุษย์ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน
         แล้วศีลข้อที่ได้รับต่อไป  คือจะไม่ล่วงเกินในของรักของชอบใจของใครๆ  เคารพกรรมสิทธิ์ในสิ่งของรักของคนอื่น  ของใครก็ของใคร  เราไม่ล่วงเกินแก่กัน  ศีลข้อที่เรารับต่อไปคือ  เราจะอยู่ด้วยการพูดคำอ่อนหวาน  สมานสามัคคี  มีประโยชน์  จะไม่พูดโกหกหลอกลวงใคร  ไม่เขียนอะไรหลอกลวงใครด้วย  ข้อนี้มันกินความถึงการเขียนด้วยเหมือนกัน  ถ้าเขียนแทนพูด  อย่างนี้เรียกว่าไม่ถือศีลข้อที่สี่  ส่วนศีลข้อที่ห้าเรารับไว้เพื่อรักษาสติสัมปชัญญะให้คงที่ไม่ให้สติเลอะเลือนไปจากจิตใจ  คนเราเมื่อสติสัมปชัญญะไปจากจิตใจของเราแล้ว  ก็เรียกความเป็นมนุษย์น้อยไป  เราก็มีแต่เรื่องวุ่นวายก่อความสับสนกันด้วยประการต่างๆ
         ในเรื่องศีลที่เรารับไปปฏิบัตินั้นจะเห็นได้ว่า  ข้อหนึ่ง  ข้อสอง  ข้อสาม  ก็อยู่ในเรื่องเมตตาปรานีเห็นอกเขาอกเรา  ไม่เห็นแต่อกเราคนเดียว  ต้องเห็นอกเขาด้วย  ไม่เอาแต่ใจเราผู้เดียว  ต้องเอาใจผู้อื่นบ้าง  ให้รู้ว่าเขากับเราต่างมีจิตใจเหมือนกัน  รักความสุขเหมือนกันเกลียดความทุกข์เหมือนกัน  อะไรที่เราไม่พอใจไม่พึงใจ  คนอื่นเขาก็ไม่ชอบใจไม่พึงใจในสิ่งนั้น  การปฏิบัติต่อกันอย่างชนิดง่ายๆ  ธรรมดาสามัญก็อยู่ตรงนี้  อยู่ตรงที่ว่า  เห็นอกเขาอกเรา  ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร  ไม่ข่มเหงใคร  ไม่ทำให้ใครเกิดปัญหา  ได้ความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ  อย่างนี้ก็เรียกว่า  มีใจประกอบด้วยคุณธรรมก็อยู่ด้วยกันด้วยความสงบเรียบร้อย  สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยดี
         สมมติว่าเราเป็นคนมีทุนประกอบการงาน  แล้วมีคนทำงานกับเรานั้นสักกี่คนก็ตาม  เราผู้เป็นนายจ้าง  เป็นผู้มีคุณธรรมประจำจิตใจ  ก็ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบคนที่เป็นลูกจ้างของเรา  เราเห็นใจเขาในการทำงาน  เราเองก็คิดได้ว่าเราจะอยู่คนเดียวไม่ได้  ถ้าไม่มีคนอื่นมาร่วมงานกับเรา  มีนายทุนแต่ไม่มีกรรมกรจะทำอะไรไม่ได้  มีนายจ้างแต่ไม่มีลูกจ้างจะทำอะไรได้โลกนี้คนทุกคนเท่ากันไม่ได้  มันต้องมีคนมั่งมี  ต้องมียากจน  มีคนโง่มีคนฉลาด  มีคนแข็งแรง  มีคนอ่อนแอ  สภาพสังคมมันเป็นอย่างนั้น  เราจะปรับให้มันเท่ากันไม่ได้หรอก  จะไปปรับคนมั่งมีให้เท่ากับคนจน  ก้ไม่ไปรับคนฉลาดให้เท่ากับคนโง่  ก็ไม่ได้  ปรับคนแข็งแรงให้มาเท่ากับคนอ่อนแอมันก็ฝืนธรรมชาติไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำได้  เราทำอย่างนั้นไม่ได้  แต่ว่าเราปรับทางจิตใจกันได้  ปรับทางจิตใจให้โอนอ่อนเข้าหากัน  ผ่อนสั้นผ่อนยาวเข้าหากัน  ไม่อยู่กันด้วยน้ำใจเหี้ยมเกรียม  ปั้นหน้ายักษ์หน้ามารเข้าใส่กันไม่ใช่ยักษ์วัดโพธิ์ยักษ์วัดแจ้งข้ามมาตีกันที่ท่าเตียนแล้วทำให้ท่านั้นมันเตียนไป  อย่างนั้นไม่ได้  อยู่กันแบบนั้นมันก็วุ่นวายเดือดร้อน  เราจะต้องอยู่กันแบบที่ว่า  หน้ามนุษย์กับหน้ามนุษย์เจอกัน  ถ้าเป็นหนังตะลุงเขาเรียกว่ามนุษย์กับมนุษย์มาเจอกันยักษ์กับยักษ์มาเจอกันไม่ค่อยได้เรื่อง  มันไม่มีธรรมะมันก็ต้องทะเลาะ  ตีกันแทงกัน  นั่นเพราะขาดคุณธรรม
         เราอยู่ด้วยกันต้องเห็นอกเห็นใจกัน  ใช้ธรรมประกอบในการงานเช่นว่าคนเขาทำงานเหนื่อยๆ  เราก็ต้องเห็นใจว่าเหน็ดเหนื่อย  พูดจาอ่อนหวานกับเขา  แสดงน้ำใจ  มีอะไรก็ให้เขากินเขาใช้  ให้เขาได้พักได้ผ่อนตามสมควร  ปีหนึ่งเดือนหนึ่งทำงานทำการมาพอสมควรแล้ว  คิดบัญน้ำบัญชีเสร็จแล้วมีกำไรเท่านั้นเท่านี้  เราก็นึกว่ากำไรนี้เราทำคนเดียวไม่ได้แต่ทุกคนช่วยกันจัดทำขึ้น  เราก็ควรเปิดเผยรายรับรายจ่ายให้รู้ว่า  นี่แหละที่ร่วมกันทำมาอย่างพี่อย่างน้องตลอดปี  มันได้กำไรเท่านี้  ก็ขอให้แบ่งให้พวกเราทุกๆคนบ้าง  เพื่อจะได้เอากินไปใช้  แล้วก็แบ่งไว้สำหรับลงทุนต่อไป  อยู่กันอย่างเปิดเผยเห็นอกเห็นใจ  คนที่เป็นลูกจ้างเราก็คงจะไม่ใจเหี้ยมใจโหดหรอก  ถ้าเราผู้เป็นนายก้มลงมา  เขาแหงนหน้าขึ้นมา  ตาต่อตามันก็เจอกันตรงกลางนั่นแหละเรียกว่าเราก้มหน้าหน่อยเขาเงยขึ้นไปหน่อยก็พบกันแต่ถ้าเราเมินไปทางโน้นเขาก็เมินไปทางนู้น  มันไม่มีทางจะเจอกันเลย  คนเราถ้าไม่ได้ยิ้มเข้าหากัน  แล้วมันก็ตั้งหน้าเป็นศัตรูกัน  มุ่งร้ายต่อกัน  เอารัดเอาเปรียบกัน  เช่น  ผู้น้อยทำงานเอารัดเอาเปรียบนายทางเวลา  ทางการงาน  หาโอกาสลักเล็กลักน้อยซ่อนนั่น  ซ่อนนี่  อะไรพอซ่อนได้กูซ่อนไป  ซ่อนที่ชายผ้าบ้าง  กระเป๋าบ้าง  อะไรเล็กๆน้อยๆ  นั่นก้เพราะเหตุนายก็เอาเปรียบ  ลูกจ้างก็เอาเปรียบบ้างเหมือนกัน  เรียกมันว่าพอคู่กัน  เข้ากันได้รูปอย่างนั่น  พอสมน้ำสมเนื้อกันในด้านเสีย  ไม่ใช่สมกันแล้วเกิดความดี
         สำหรับนาย  เราต้องแผ่ความดีให้แก่เขา  มันเป็นหน้าที่ของเรา  ผู้เป็นนายจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่มาอยู่กับเรา  เริ่มต้นก็ทำความเข้าใจกันเสียก่อน  ให้ทุกคนที่มาอยู่นั่นเหมือนกับว่า  เป็นคนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน  มาร่วมสังคมการงานด้วยกัน  รับผิดชอบร่วมกันในหน้าที่การงาน  อย่าถือว่าเป็นงานของฉัน  เป็นงานของคนนั้นคนนี้  แต่ให้ถือว่าเป็นของเราทุกคน  เรามาลงเรือลำเดียวกัน  ทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันถ่อ  ช่วยกันพาย  ช่วยกันถือท้ายช่วยกันถือหัว  ช่วยกันวิดน้ำ  ช่วยกันอุดรูรั่ว  เพื่อให้เรือนั่นไปถึงจุดหมายปลายทางได้เรียบร้อย  จะมาเกี่ยงกันไม่ได้  ถ้าขืนเกี่ยงกันเรือไม่เดิน  เรือล่ม  ผลที่สุดเราก็จมน้ำตาย
         ในวงงานก็เหมือนกัน  เรามาทำงานร่วมกัน  ถ้างานอยู่เราก็อยู่  งานไม่มีเราจะอยู่กันได้อย่างไร  เช่น  งานล้ม  ไม่ใช่ล้มแต่ฉัน  เธอก็ล้มด้วยเหมือนกันเพราะเธอไม่มีงานทำต่อไป  ทีนี้เราช่วยกันอย่าให้งานมันล่มมันจม  ให้ถือว่าเราทุกคนเป็นคณะเดียวกัน  มาร่วมลงเรือลำเดียวกันแล้ว  มีอะไรก็ช่วยกันเถิด  ช่วยกันทำ  ช่วยกันรักษาผลประโยชน์อันจะเกิดขึ้นเป็นส่วนรวม  แล้วเราก็ค่อยจัดการแบ่งกันเวลาสิ้นปี  อย่างนี้ก็อยู่กันเรียบร้อยเพราะว่ามีคุณธรรมเข้าไปเป็นเครื่องประสานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างคนก็อยู่กันด้วยความสุข  ความสงบ  ไม่มีปัญหาไม่ก่อการวุ่นวาย  มีแต่เรื่องการเห็นอกเห็นใจกัน
         เวลาใดคนไม่สบาย  เจ็บไข้ได้ป่วย  เราต้องดูแลรักษา  อันนี้ไม่ต้องอาศัยกฎหมายอะไร  อาศัยแต่คุณธรรมเท่านั้นพอ  คนไทยเราโบราณก็อย่างนั้นคนในบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดูแลรักษา  ไม่มีโรงพยาบาลสมัยก่อนก็ไปหาหมอ  หายาต้มให้กิน  ทำกันไปตามเรื่อง  รักษาดูแลประคบประหงบกันไปจนกว่าจะหายหายแล้วก็ได้ทำงานร่วมกันต่อไป  อย่างนี้มันเกิดความเห็นอกเห็นใจ  มนุยษ์เรา  ถ้าเราแสดงความรักต่อเขา  เขาไม่เกลียดเราแน่ๆ  แต่ถ้าเราแสดงความเกลียดต่อเขา  ผลก็คือความเกลียดตอบนั้นเอง  มันเป็นเรื่องธรรมดา  เรายิ้มกับเขา  เขาก็ต้องยิ้มกับเรา  เราปั้นหน้ายักษ์ใส่เขา  เขาก็ปั้นได้เหมือนกัน  เขาจะปั้นเข้ามั่ง  เขาจะปั้นได้ใหญ่กว่าเราเสียอีก  ที่นี้ยักษ์สองตัวก็ถือตะบองเข้าฟาดกัน  เกิดเป็นปัญหาขึ้นในวงการงาน  เกิดความเสียหายต่อกัน  บริษัทใดก็ตาม  องค์การห้างร้านใดก็ตาม  ถ้าอยู่กันด้วยธรรมะ  จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้า  แต่ถ้าอยู่ด้วยความไม่เป็นธรรม  เอารัดเอาเปรียบกันทุกวิถีทาง  เขาเรียกว่าเค็มเข้าใส่กัน  ตต่างคนต่างเค็มเข้าใส่กัน  เมื่อต่างคนต่างเค็มแล้วมันไม่ได้เรื่องอะไร  เสียหาย  เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน  แต่หากเราเอาใจใส่กันในทางที่ถูกที่ชอบแล้ว  เรื่องทั้งหลายก็จะดีขึ้น  ก้าวหน้าขึ้นทุกวิถีทาง  อันนี้คือการใช้ธรรมะต่อกัน
         ไม่เฉพาะแต่นายจ้างกับลูกน้องเท่านั้น  ไม่ว่าในสถานที่ใด  ในเรื่องอะไร  ถ้าใช้ธรรมะแล้วมันเรียบร้อย  เช่น  จราจรคับคั่ง  ถ้าคนขับรถทุกคนใช้ธรรมะ  ผ่อนสั้นผ่อนยาวกัน  ไม่ใช่เราอยากไปคนเดียว  คนอื่นเขาก็อยากไปเหมือนกัน  มีอะไรนิดอะไรหน่อยก็ค่อยแบ่งกัน  ถนนมันคับแคบแบ่งกันเดินคนละนิดละหน่อย  ใครแซงขึ้นไป  คุณอยากไปก่อนไป  ผมจะอยู่ข้างหลัง  ค่อยผ่อนผันกันไปอย่างนั้น  ไม่แข่งดีกัน  แข่งดีนั้นคือแข่งกิเลส  เอาความชั่วออกมาแข่งกัน  แกทำได้  ข้าก็ทำได้  อันนี้ไม่ช่วยให้สังคมดีขึ้น  เพราะว่าต่างคนต่างช่วยกันทำชั่วเมื่อคนนั้นทำได้กูก็ทำได้  คนนั้นโกงได้กูก็โกงได้  คนนั้นเอาเปรียบได้กุก็เอาเปรียบได้เหมือนกัน  อย่างนี้ก็เหมือนกับว่าชวนกันเอาสิ่งสกปรกมาทาที่ตัวของทุกฝ่าย  กลายเป็นคนสกปรกกันไปหมด  มันก็ก่อเหตุและเป็นปัญหา
         ผู้มีธรรมะประจำใจเขาถือหลักว่า  คนอื่นจะทำชั่วเราไม่ทำชั่ว  คนอื่นเขาจะทำอะไรไม่เป็นธรรม  เราจะไม่เอาอย่าง  เราจะใช้ของดีตอบโต้กับของชั่ว  ให้ทำตัวให้เหมือนกับไม้จันทร์หอม  ไม้จันทร์หอมนั้นยิ่งทุบมันยิ่งหอม  เราทุบลงไปกลิ่นของมันกระจายออกมา  ทุบทุกทีหอมทุกที  ไม่เหม็นแก่ใครๆ  เป็นอันขาด  คนเราควรจะอยู่อย่างนั้น  เรียกว่าทำจิตใจให้มั่นคงอยู่ในคุณงามความดี  มีความเมตตาปรานีต่อกัน  หันหน้าเข้าหากัน  เกื้อกูลกันในทางที่ถูกที่ชอบ
         ในวันหนึ่งๆ  ของชีวิตของเรา  เราควรจะวางความคิดไว้ว่า  เรามีอะไรที่จะทำให้เป็นประโยชน์แก่ใครได้บ้าง  หรือจะรับใช้อะไรแก่ใครได้บ้าง  ให้คิดไว้อย่างนี้บ่อยๆ  ทั่วๆหน้า  แล้วญาติโยมก็จะเห็นว่ารอบตัวเรามันดีขึ้น  เช่น  เรานั่งแล้วคิดว่าคนอื่นเขาจะนั่งได้หรือเปล่า  เรายืนแล้วคนอื่นเขามีที่ยืนหรือเปล่า  เรากินแล้วคนอื่นมีอะไรกินหรือเปล่า  เราสบายแล้วคนอื่นเขาได้รับความสบายกันหรือเปล่า อย่าเป็นคนไม่ยอมมองดูใคร  เหมือนกับคนโบราณว่าได้ข้าวหมอน้อยวางอยู่หว่างขา  ก้มหน้าก้มตากินอยู่คนเดียว  ไม่มองใครแม้ใครจะยืนมอง  กินด้วยความทุกข์  กินเพราะกลัวคนอื่นจะมาแบ่งเอา    แต่ถ้าเรามีอะไรกิน  แบ่งกันกินคนละนิดละหน่อย  กินกันด้วยอารมณ์สบาย
         การให้  มันเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข  การเอารัดเอาเปรียบ  มันเป็นบ่อเกิดแห่งความเดือดร้อน

        


        

ผู้รักดีมีความสุข
สำนักพิมพ์ : สถาบันบันลือธรรม



อ้างอิง  :  พระพรหมมังคลาจารย์  (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)